บ้านแบบไหน เหมาะสำหรับติดตั้งโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) มีระบบไหนคุ้มค่าแก่การติดตั้ง ที่สุดกันนะ?

  • เรามาทำความรู้จักระบบของโซลาร์เซลล์ก่อนดีกว่า ว่าแต่ละระบบมีวิธีการทำงานอย่างไร เพื่อการเลือกติดตั้งอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า จะมีด้วยกันอยู่ 3 ระบบ
    • ได้แก่ ระบบออนกริด (On-Grid)
    • ระบบออฟกริด (Off-Grid)
    • ระบบไฮบริด (Hybrid)

โดยเลือกใช้งานเราจะเลือกตามวัตถุประสงค์ และพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้อยู่อาศัยนั่นเอง

ระบบการทำงานของโซลาร์เซลล์ 3 ระบบ แตกต่างกันยังไงบ้างนะ มาอ่านกันเลย
1. ระบบออนกริด (On-Grid)

เป็นระบบโซลาร์เซลล์ที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งจากการไฟฟ้า แปลว่าระบบนี้จะช่วยประหยัดค่าไฟบางส่วนเท่านั้น ซึ่งแบบ On-Grid จะมีแผงโซลาร์เซลล์ต่อเข้ากับอินเวอร์เตอร์ในการแปลงไฟฟ้าเป็นกระแสสลับ เพื่อให้ต่อกับระบบจ่ายไฟกับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นที่น่าสนใจและจุดที่ควรรู้ ดังนี้

  • ติดตั้งและบำรุงรักษาง่าย
  • เหมาะกับโรงงานและอาคารบ้านเรือน
  • ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ ช่วยลดต้นทุน
  • ใช้งานเฉพาะตอนกลางวัน หรือมีแสงแดดเท่านั้น
  • ผลิตไฟฟ้าได้แล้วนำมาใช้เลย
  • สามารถขายไฟคืนให้การไฟฟ้าได้ (สำหรับระบบไฟฟ้า 1 เฟส ขายได้กับระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ และสำหรับระบบไฟฟ้า 3 เฟส ขายได้กับระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์)
  • ต้องขออนุญาตการไฟฟ้าก่อนการติดตั้ง

2.ระบบออฟกริด (Off-Grid)

เป็นระบบที่ไม่ต้องพึ่งระบบไฟฟ้าส่วนกลาง (การไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ในการใช้พลังงาน พูดง่าย ๆ คือเป็นการติดตั้งแบบ Stand Alone สามารถต่อเจ้าตัวโซลาร์เซลล์เข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่รองรับกระแสไฟตรงได้เลย ทั้งนี้ระบบ Off-Grid มีจุดที่ควรรู้ ดังนี้

  • มีต้นทุนการติดตั้ง และค่าซ่อมบำรุงรักษาสูง เพราะมีอุปกรณ์เสริมอยู่มาก
  • เหมาะกับพื้นที่ห่างไกลไฟฟ้า เช่น ดอย เขา เกาะ หรือใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
  • ไม่ต้องเสียค่าไฟให้การไฟฟ้าในแต่ละเดือน
  • มีไฟใช้ตลอดแม้ยามฉุกเฉิน เช่น ไฟดับ ไฟตก เพราะมีแบตเตอรี่สำรอง
  • ใช้ได้ในช่วงไม่มีแดด เพราะเป็นระบบผลิตพลังงานได้เอง

3. ระบบไฮบริด (Hybrid)

หรือเรียกอีกชื่อว่า ระบบผสม เป็นการนำข้อดีของระบบ On-Grid และ Off-Grid รวมเข้าด้วยกัน หากใช้ระบบนี้ นอกจากประหยัดค่าไฟฟ้ารายเดือนได้แล้ว เรายังสามารถสำรองไฟฟ้าไว้ใช้เมื่อยามฉุกเฉินได้อีกด้วย ส่วนระบบไฟฟ้าก็มีความเสถียรมาก เนื่องจากมีแหล่งจ่ายไฟทั้งจากตัวโซลาร์เซลล์ การไฟฟ้า และจากแบตเตอรี่นั่นเอง โดยระบบไฮบริดมีจุดเด่นและจุดที่ควรรู้ ดังนี้

  • ระบบไฮบริดจะไม่สามารถขายกระแสไฟคืนให้การไฟฟ้าได้
  • เป็นไฟฉุกเฉินในเวลาไฟขัดข้องได้ เนื่องจากมีแบตเตอรี่
  • ลดค่าไฟได้มากที่สุด แต่การติดตั้งมีราคาสูงมาก ทำให้กว่าจะคืนทุนใช้เวลานาน

อ่านมาถึงตรงนี้ คงรู้กันแล้วว่าระบบการทำงานของโซลาร์เซลล์มีแบบไหนบ้าง และที่สำคัญ การติดตั้งนั้นควรคำนึงด้วยว่า บ้านของเราเป็นแบบไหน เหมาะสมหรือไม่ที่จะติดตั้ง รวมถึงพิจารณาในแง่ของงบประมาณ เพื่อให้โซลาร์ที่เราตั้งงบในกระเป๋าออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าแก่การลงทุนมากที่สุด ว่าแต่ “บ้านแบบไหนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วคุ้มค่า” เรามาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันเลย!

  • บ้านที่ใช้ไฟตอนกลางวันเยอะ และมีการเปิดแอร์เป็นประจำ เช่น บ้านที่คนในบ้านอยู่ตอนกลางวัน อาทิ ร้านอาหาร โฮมออฟฟิศ ร้านค้าที่เปิดแอร์ตลอด ฯลฯ
  • บ้านที่มีค่าไฟแพงเกิน 3,000 บาท/เดือน ก็อาจพิจารณาในการติดโซลาร์เซลล์ เพื่อประหยัดค่าไฟในระยะยาว อีกทั้งเป็นอัตราการใช้ไฟที่พอจะคุ้มค่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าขั้นต่ำของโซลาร์เซลล์ เช่น เริ่มต้นที่ 1.8-3 กิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท) โดยโซลาร์เซลล์ 1.8 กิโลวัตต์ จะประหยัดค่าไฟสูงสุดได้ประมาณ 900-1,000 บาท/เดือน ซึ่งบริษัทผู้ติดตั้งจะประเมินความคุ้มค่าของแต่ละบ้านเป็นกรณีไป
  • บ้านหรือองค์กรที่อยากใช้พลังงานสะอาด แต่ที่สำคัญต้องมีพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เหมาะสมและเพียงพอ เช่น ควรมีดาดฟ้าหรือพื้นที่บนหลังคาที่หันไปทางทิศใต้เนื่องจากรับแสงได้ดี ส่วนการติดตั้งจะใช้พื้นที่ประมาณ 7.7 ตารางเมตรขึ้นไป และพื้นที่ติดตั้งต้องรับน้ำหนักได้ประมาณ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป

ติดตั้งต้องใช้งบเท่าไร และคืนทุนในกี่ปี

หากอาคารบ้านเรือนของคุณเข้าข่ายที่เหมาะสมในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ก็เป็นการดีที่จะลองติดตั้งดูสักตั้งเพื่อประหยัดค่าไฟในระยะยาว ทั้งนี้การคำนวณว่าเราต้องใช้โซลาร์เซลล์ขนาดเท่าไร งบประมาณแค่ไหน และจะคืนทุนกี่ปี ก็ขึ้นอยู่กับการใช้ไฟฟ้าและพื้นที่ติดตั้งของแต่ละบ้านด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญจะประเมินหน้างานให้ก่อนติดตั้งเสมอ ซึ่งเราจะขอยกตัวอย่างคร่าว ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของคุณ

  • การติดตั้งระบบโซลาร์นั้นไม่ตายตัว ซึ่งปัจจัยหลักในการคำนวณก็คือค่าไฟ หรือปริมาณการใช้ไฟในแต่ละเดือน โดยส่วนมากเรามักจะเลือกขนาดการติดตั้งที่ 60-80% จากปริมาณการใช้ไฟฟ้า
    • การคำนวณค่าไฟเราจะคำนวณจากหน่วยไฟฟ้าเป็นกิโลวัตต์ (kW) สมมติว่าโซลาร์เซลล์ 1 แผง มีขนาด 120 x 60 เซนติเมตร มีพื้นที่เท่ากับ 0.72 ตารางเมตร มีกำลังผลิตแผงละ 102 วัตต์ แปลว่าถ้าจะผลิตให้ได้ 1 กิโลวัตต์ ต้องใช้ 10 แผงในการติดตั้ง กินพื้นที่บนหลังคาเท่ากับ 7.2 ตารางเมตร
    • จากนั้นมาดูปริมาณการใช้งานไฟฟ้าในแต่ละเดือนว่าใช้กี่หน่วย (KW-h) เช่น ใช้เดือนละ 2,000 หน่วย (เสียค่าไฟฟ้าประมาณเดือน 10,000 บาท) ให้จดเลขมิเตอร์ 2 ครั้งใน 1 วัน ครั้งแรกจดช่วงเช้าประมาณ 9.00 น. และช่วงเย็น 17.00 น. รวมทั้งหมด 4 วัน แล้วนำมาลบกัน ก็จะได้ค่าจำนวนหน่วยที่ใช้ในเวลากลางวัน
    • จากนั้นนำหน่วยทั้งหมดที่ได้มาหาร 4 ยกตัวอย่าง 55+40+50+45 = 190/4 เฉลี่ยแล้วใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันประมาณ 47.5 หน่วย
    • ใน 1 วันมีแสงอาทิตย์ประมาณ 5 ชม. เราก็ต้องนำ 47.5 หน่วย หาร 5 ได้เท่ากับ 9.5 กิโลวัตต์ ดังนั้นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ประมาณ 10 กิโลวัตต์ จึงจะเหมาะสมและคุ้มทุนที่สุด โดยจำนวนแผงที่จะติดตั้งต้องดูตามปริมาณวัตต์ต่อ 1 แผง
    • อย่างบ้านครอบครัวใหญ่เกิน 4 คนขึ้นไป หรือเสียค่าไฟเกิน 3,000-7,000 บาท/เดือน แนะนำให้ติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ ซึ่งจะลดค่าไฟได้ราว 2,000-3,000 บาท/เดือน โดยราคาติดตั้งจะอยู่ที่ 2-3 แสนบาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละเจ้า นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก เช่น ค่าปรับปรุงพื้นที่ ค่าธรรมเนียมการขออนุญาต เป็นต้น
  • สำหรับการคืนทุนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟของแต่ละบ้าน กำลังการผลิตของโซลาร์เซลล์ที่เราติดตั้ง สภาพอากาศ ฯลฯ โดยทั่วไปจะมีคืนทุนเฉลี่ยที่ 5-10 ปี ซึ่งหลังจากคืนทุนแล้ว แปลว่าเราจะใช้ไฟส่วนนั้นฟรีไปอีกนาน อย่างน้อยก็มีอายุการใช้งานพอ ๆ กับอายุรับประกันคือ 25 ปี ทั้งนี้อุปกรณ์โซลาร์เซลล์จะมีการเสื่อมตามอายุการใช้งาน ดังนั้นต้องคำนึงถึงค่าบำรุงรักษาในจุดนี้ไว้ด้วย